บทความจาก เว็บไซต์ Digital Age “บริการจัดเก็บพร้อมส่ง เพิ่มเวลาให้ผู้ค้าออนไลน์”

การจัดเก็บและส่งสินค้ายังคงเป็นเรื่องราวที่น่าปวดหัวสำหรับผู้ค้าออนไลน์ โดยบางครั้งอาจจะยังมีข้อผิดพลาดที่ต้องตามแก้ภายหลัง การมีบริการช่วยเหลือทางด้านนี้โดยเฉพาะจะช่วยเพิ่มเวลาให้ผู้ค้าสามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ดียิ่งขึ้นได้

ธุรกิจคลังสินค้าพร้อมบริการจัดส่ง เป็นหนึ่งตัวช่วยที่จะเข้ามาสนับสนุนผู้ค้าออนไลน์ ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการรับจัดเก็บสินค้าและจัดส่งให้ตามช่องทางต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน ร้านค้าเริ่มเปลี่ยนมาใช้บริการตรงนี้มากขึ้น และเชื่อว่าบริการนี้จะรับความนิยมสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ลูกค้าไม่ยึดติดช่องทางซื้อของ แต่ออนไลน์เป็นช่องทางที่ร้านค้าต้องมี
ในปีที่ผ่านมาเห็นได้ว่า พฤติกรรมการซื้อ-ขายออนไลน์เติบโตขึ้น ทั้งฝั่งผู้ค้าที่มีร้านค้าหน้าใหม่ และมาร์เก็ตเพลสใหม่เปิดตัวเข้ามา และผู้ใช้งานก็ตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น รวมถึงค่าโฆษณาที่เพิ่มขึ้นด้วย

ผรินทร์ สงฆ์ประชา ผู้จัดการทั่วไปบริษัท นาสเกต รีเทล จำกัด ผู้คร่ำหวอดในวงการอีคอมเมิร์ซมากกว่า 10 ปี กล่าวว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีกระแสที่ดีมาก ทำให้อาจจะดูเหมือนว่ามีเม็ดเงินเข้ามามากขึ้น แต่ในความเป็นจริง ยังคงเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับออฟไลน์ ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่า ออนไลน์เป็นช่องทางที่จำเป็น แต่ต้องควบคู่กับการมีหน้าร้าน และนำจุดแข็งมาส่งเสริมกันเพื่อเพิ่มศักยภาพ

คลังสินค้าพร้อมบริการจัดส่ง ที่เป็นมากกว่าการขนส่ง โดย Sokochan (โซโกะจัง)

“คนซื้อหันมาสนใจออนไลน์มากขึ้นจริง แต่พฤติกรรมของลูกค้าไม่ได้ยึดติดกับช่องทางใดช่องทางหนึ่ง การมีออนไลน์ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นว่าต้องส่งไปรษณีย์ อาจจะมีการนัดเจอกันก็ได้ ถ้าอยากได้ของเร็วหรืออยากตรวจสอบคุณภาพ แต่ในขณะเดียวกัน การมีหน้าร้านก็แสดงให้เห็นว่ามีตัวตนจริง สร้างความน่าเชื่อถือได้ ตอนนี้เริ่มมีร้านที่เป็นมัลติแบรนด์เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าว่าอย่างน้อยถ้ามีปัญหาเขาจะไปตามหาได้ที่ไหน ไม่ได้เป็นเพียงแค่คนบนอินเทอร์เน็ต”

พฤติกรรมการซื้อของปัจจุบันที่มีหลายทางเลือก ลูกค้าไม่ได้ยึดติดกับช่องทางใดช่องทางหนึ่ง แต่จะใช้ช่องทางที่ง่ายที่สุดให้ได้มาเร็ว ทำให้ผู้ค้าจำเป็นต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดาลูกค้า ซึ่งฐานลูกค้าสามารถแบ่งได้คร่าวๆ คือ 20% ลูกค้าประจำ 30% ลูกค้าที่แวะมาบางครั้ง และ 50% ลูกค้าที่เฉยๆ อาจมาครั้งเดียว โดยแต่ละกลุ่มก็ต้องมีการดูแลเข้าถึงที่ต่างกัน สิ่งสำคัญคือ ต้องผลักดันให้สองกลุ่มหลังขึ้นมาเป็นลูกค้าประจำให้ได้ โดยออนไลน์ก็จะเข้ามาช่วยในส่วนนี้

แบ่งเป็นพื้นที่เก็บสินค้าทั่วไป ห้องเย็นที่เก็บสินค้าที่ต้องรักษาอุณหภูมิ และห้องนิรภัยที่เก็บสินค้ามีมูลค่า โดยสินค้าทุกชิ้นจะมีการติดบาร์โค้ด เพื่อเชื่อมโยงเข้าระบบคอมพิวเตอร์ก่อนเก็บในคลัง

ขั้นตอนแพ็คของและจัดส่ง ปัญหาที่ผู้ค้าออนไลน์ต้องเจอ
การขายสินค้าออนไลน์ นอกจากสินค้าที่น่าสนใจแล้ว การจัดส่งที่ถูกต้อง ครบถ้วนและรวดเร็ว ยังเป็นสิ่งที่ลูกค้าคาดหวัง ทุกคนจะเคยเห็นภาพพ่อค้าแม่ค้าลงรูประหว่างการแพ็คของที่กองพะเนิน และหอบหิ้วพะรุงพะรังไปที่ไปรษณีย์พร้อมโชว์เลขแทรกกิ้งยาวๆ และไล่ส่งเลขให้กับลูกค้าแต่ละคน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานานและซับซ้อนกว่าการลงขายสินค้าเป็นเท่าตัว

จักรพันธ์ วงศ์คณิต เจ้าของแบรนด์เสื้อ Life Project กล่าวว่า ก่อนที่จะเริ่มขายของออนไลน์ มีจุดเริ่มต้นจากการออกร้านตามงานอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีคนรู้จักแบรนด์ ทำให้ยอดขายไม่ได้ดีเท่าที่ควร จึงขยับมาสร้างความรู้จักผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และมาร์เก็ตเพลสอย่าง Shopee ส่วนตัวมีหน้าที่เพียงทำการตอบลูกค้าและแพ็คของส่ง ซึ่งด้วยความที่ต้องทำงาน จึงใช้ช่วงเวลากลางคืนแพ็คของและขนไปส่งไปรษณีย์ตอนเช้า ทำให้ไม่มีเวลาเหลือในการทำอย่างอื่น จึงเริ่มมองหาบริการที่จะช่วยแพ็คของและส่งให้เพื่อลดขั้นตอนตรงนี้ลง

Life Project

พรรณวดี โพธิ์อ่อน เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Labella กล่าวว่า เป็นแม่ค้าออนไลน์มา 2 ปี ปัจจุบันขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ 3 ช่องทางคือ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเว็บไซต์ โดยเริ่มทีละช่องทาง โดยตอนนี้มีแอดมินเข้ามาช่วยในการตอบลูกค้า เพื่อให้บริการได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

Labella

Labella จะมีสินค้าในสต็อกและแบบพรีออเดอร์ ซึ่งเราแบ่งสต็อกออกเป็น 3 ส่วนคือ สินค้าที่ไม่พร้อมขาย สินค้าพร้อมขาย แล้วก็ที่โกดังของโซโกะจัง ซึ่งตรงนี้ก็มีเว็บฯ ให้เช็กได้ด้วย ที่ต้องใช้การเก็บสินค้าหลายแบบและต้องการระบบเข้ามาช่วย เพราะว่าปัญหาที่พบบ่อยคือ การแพ็คของผิด เนื่องจากออเดอร์เข้ามาเยอะมาก แล้วเรามีกันสองคนซึ่งทำไม่ไหว ก็เจอกรณีลูกค้าเหวี่ยงเยอะ เลยอยากให้มีการจัดการที่ดีกับตรงนี้

ซึ่งการเลือกตัวช่วยในการจัดเก็บและส่งของปัจจัยที่สำคัญคือ ต้องสามารถดูแลสินค้าได้อย่างดี และมีการตรวจสอบได้ตลอดเวลา รวมถึงราคาที่คุ้มค่ากับบริการที่ร้านค้าจะได้รับ

ธุรกิจแพ็คสินค้าพร้อมส่ง ตัวช่วยบรรดาผู้ค้าออนไลน์
ธุรกิจในภาคขนส่งปัจจุบัน มีบริษัทเอกชนเข้ามาเล่นในวงการนี้เพิ่มขึ้นมาก แต่อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจคือ ธุรกิจคลังสินค้าพร้อมบริการจัดส่ง ที่เป็นมากกว่าการขนส่ง โดย Sokochan (โซโกะจัง) ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกของธุรกิจนี้ที่มีความโดดเด่นทางด้านการนำระบบไอทีมาประยุกต์ใช้

เอเดรียน สจ๊วต ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โซโกะจัง จำกัด

เอเดรียน สจ๊วต ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โซโกะจัง จำกัด กล่าวว่า เรื่องของการโพสต์และพัฒนาสินค้าเป็นหน้าที่ของเจ้าของแบรนด์ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่หลายๆ คนจะเสียเวลากับการจัดเก็บ แพ็ค และจัดส่ง มากกว่าที่จะนำเวลาไปต่อยอดส่วนนั้น โซโกะจัง จึงเป็นตัวช่วยในการดูแลระบบหลังบ้านแบบ Fullfillment

“ร้านค้าที่เลือกใช้งานโซโกะจังแล้ว สามารถนำสินค้ามาไว้ที่โกดังได้ทันที ซึ่งโกดังของเราก็จะแบ่งเป็นพื้นที่เก็บสินค้าทั่วไป ห้องเย็นที่เก็บสินค้าที่ต้องรักษาอุณหภูมิ และห้องนิรภัยที่เก็บสินค้ามีมูลค่า โดยสินค้าทุกชิ้นจะมีการติดบาร์โค้ด เพื่อเชื่อมโยงเข้าระบบคอมพิวเตอร์ก่อนเก็บในคลัง ผู้ค้าเพียงแค่ส่งคำสั่งซื้อเข้ามาในระบบ ทางโซโกะจังก็จะสามารถอ้างอิงและสแกนจากบาร์โค้ด เพื่อเตรียมแพ็คของได้ทันที ทำให้ลดการผิดพลาดในการจัดส่งลงไปได้”

ผู้ประกอบการที่ใช้บริการผ่าน Sokochan (โซโกะจัง) ได้แก่ แบรนด์กระเป๋า Labella,
แบรนด์เครื่องประดับ Vivigift และแบรนด์เสื้อ Life Project

ทั้งนี้ การทำงานของโซโกะจัง จะจัดการด้วยระบบคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ทำให้เห็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งกล่องกันกระแทก  รวมถึงค่าจัดส่ง แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ทั้งยั้งเชื่อมต่อสถานะการจัดส่งจากบริษัทขนส่งต่างๆ ที่เป็นพาร์ตเนอร์ เพียงพิมพ์ชื่อผ่านระบบร้านของโซโกะจัง ไม่ต้องใช้เลขแทรกกิ้งเหมือนที่ผ่านมา

บริการในรูปแบบนี้กำลังได้รับความนิยมจากผู้ค้าออนไลน์ เพราะจะช่วยลดเวลาและความผิดพลาดลงได้ ซึ่งผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดนี้ก็ต้องมีจุดเด่นที่ตอบโจทย์กับผู้ค้า และราคาที่เหมาะสม แต่เชื่อได้ว่าจะเป็นธุรกิจที่เติบโตไปตามตลาดอีคอมเมิร์ซไทยอย่างแน่นอน